วิเคราะห์คดีน้องต่อ ชั่งน้ำหนักหลักฐาน เอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้หรือไม่

ถึงตอนนี้ยังไม่พบร่างน้องต่อ ตามคำให้การของ แม่เด็กชายวัย 8 เดือน ที่หายจากบ้านใน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2566 แม้ตำรวจแจ้ง 3 ข้อหา แต่หลักฐานสำคัญคือ ร่างของน้อง

โดยผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า หากหาร่างไม่พบ ผู้กระทำผิดมีโอกาสจะหลุดพ้นข้อกล่าวหา แต่ยังมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์สำคัญ เช่น คราบเลือดบนผ้าห่ม

รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิเคราะห์กับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า คดีน้องต่อเด็กชายวัย 8 เดือน ที่หายตัวไปกลางดึก หลังจากที่ตอนแรกแม่ให้การถึงบุคคลต้องสงสัย จนสุดท้ายให้ปากคำยอมรับว่านำร่างลูกไปโยนลงแม่น้ำละแวกบ้าน เนื่องจากกลางดึกนั้น ลูกได้ร่วงหลุดมือ และคาดว่าเสียชีวิต

คดีลักษณะนี้ หลักฐานสำคัญคือ ศพของผู้เสียชีวิต บางคดีเมื่อค้นหาศพไม่พบ พอมีการดำเนินคดีในชั้นศาล ผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษ เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ แต่คดีน้องต่อ สามารถตั้งข้อสังเกตได้จากการให้ปากคำล่าสุดว่า สุดท้ายแล้ว น้องต่อเสียชีวิตก่อนหรือหลังที่แม่จะโยนลงไปในแม่น้ำ แล้วทำไมจนป่านนี้ยังงมหาร่างไม่เจอ หรือการให้ปากคำครั้งนี้ เป็นการโกหก

“พฤติกรรมของแม่ เป็นผลมาจากสภาพสังคมที่หล่อหลอม โดยการปกป้องตัวเองด้วยวิธีใดก็ตาม ทำให้รอดพ้น ด้วยสิ่งเหล่านี้ จึงทำให้แม่เด็กแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมา สิ่งหนึ่งต้องยอมรับคือ ยังมีอีกสังคม ที่ไม่ได้รับโอกาส ทำให้คนในสังคมนั้นต้องทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด การโกหกจึงกลายเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องพยายามหาหลักฐานทางคดีอย่างละเอียด หากค้นหาร่างน้องในแม่น้ำไม่เจอ จึงต้องหาหลักฐานอื่นแทน”

คดีนี้เกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม แต่ขณะนี้ถูกเบี่ยงเบนประเด็นเป็นเรื่องชู้สาว ดังนั้นตำรวจต้องพยายามหาศพเด็กให้เจอ หากไม่เจอศพก็เป็นเรื่องยากที่จะตั้งข้อหาฆาตกรรมได้

เด็ก วิเคราะห์คดีน้องต่อ

หลักฐานสำคัญที่ต้องค้นหาคือ คราบเลือดบนหมอนและผ้านวม โดยภาพหลักฐานที่ถ่ายออกมาจะเห็นภาพคราบเลือดใหญ่มากบนผ้านวม ซึ่งแม่ให้การว่า น้องต่อร่วงหล่นจากมือ แล้วเสียชีวิต ก่อนนำไปโยนลงน้ำ จึงมีคำถามว่าในห้องนอนเป็นจุดเกิดเหตุหรือไม่

หากห้องนอนเป็นจุดเกิดเหตุ ต้องตรวจสอบคราบเลือดว่า เป็นคราบเลือดที่ตรงกับวันเกิดเหตุหรือไม่ ถ้าเป็นจริง น้องอาจมีร่องรอยบาดแผลมากกว่าที่แม่ให้ปากคำ ขณะเดียวกันก็สามารถคำนวณปริมาณเลือดจากจุดที่เกิดเหตุได้ เพราะปกติมนุษย์ถ้าเสียเลือดเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ มีโอกาสเสียชีวิตสูง ดังนั้น ถ้ารู้น้ำหนักตัวของน้องต่อ นำมาคำนวณ เพื่อเชื่อมโยงกับรอยคราบเลือด จะเป็นหลักฐานสำคัญในการปิดคดี หากไม่เจอร่างน้องต่อ

“ตัวอย่างคดีสามีฆ่าหั่นศพภรรยาในอดีต ที่ไม่พบศพคนตาย การดำเนินคดี ไม่สามารถตั้งข้อหาได้ เจ้าหน้าที่จึงทำการค้นหาในท่อน้ำทิ้งตั้งแต่เช้ายันเย็น แต่ไม่เจอ เมื่อทำพิธีกรรมความเชื่อ กลับดูดขึ้นมาเจอชิ้นส่วนมนุษย์ บริเวณกระบังลม เมื่อนำไปตรวจดีเอ็นเอ แล้วพบว่าตรงกับภรรยา กรณีนี้แม้ไม่เจอตัวศพ แต่สามารถตั้งข้อกล่าวหา และเอาผิดคนร้ายได้”

จนถึงตอนนี้ หากหาร่างเด็กไม่เจอ การตั้งข้อกล่าวหา ต้องหาหลักฐานอื่นมาเชื่อมโยง ซึ่งหลักฐานสำคัญในคดีตอนนี้ต้องพิสูจน์กองเลือดบนผ้านวม ว่าเป็นเลือดของน้องต่อจริงหรือไม่ ถ้าดีเอ็นเอตรงกับน้องต่อ สามารถตั้งข้อกล่าวหาเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องได้ทันที

การให้ปากคำของแม่ ทางตำรวจต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า หากเด็กหลุดมือ แล้วมีอาการอาเจียนตามมาพร้อมกับเลือด จะต้องมีคราบของเศษอาหารปนมากับเลือดด้วย ดังนั้น ถ้าหากหาร่างของน้องไม่เจอ หลักฐานนี้จะเป็นสิ่งสำคัญทำให้ปิดคดีของน้องต่อได้